ก่อนการต่อสาย คุณครูก็แนะนำว่า ในปัจจุบันมีเครื่องปอกสายอยู่ แต่ถ้าเราไม่ได้ซื้อไว้ ก็ให้ปอกสายโดยการใช้คัตเตอร์ธรรมดา แต่ก็มีเทคนิคอยู่ว่าควรจะปอกแบบเหลาดินสอ ไม่ใช่ปอกแบบควั่น เพราะการควั่นจะทำให้ทองแดงมีรอย ในที่สุดก็จะเสี่ยงต่อการหักหรือขาดได้ ดังนั้นแบบเหลาดินสอจะดีกว่า

อย่างแรกก็ให้ทำการปอกสายไฟทั้งสองเส้นให้เรียบร้อย โดยเว้นปลายสายประมาณ 4-5 cm พยายามอย่าให้ทองแดงมีรอย

จากนั้นก็ให้นำปลายสายทั้งสองมาไขว้กันดังรูป แล้วก็เริ่มบิดเป็นเกลียว ซึ่งถ้าจะให้สวยงามแนะนำว่าให้ใช้คีม บีบตรงจุดที่ไขว้กันไว้ แล้วจึงออกแรงบิดให้เป็นเกลียวสวยงาม

ทำการบิดเกลียวให้ได้ตลอดความยาวของปลายสายที่ปอกเอาไว้ ยกเว้นด้านตรงปลายจะบิดได้ยากก็ให้ทิ้งเอาไว้ แล้วค่อยเอาคีมตัดออกไป

เมื่อตัดแล้วเราก็จะได้สายไฟที่ต่อกันโดยการบิดเกลียวอย่างสวยงาม ย้ำว่าควรจะทำให้สวยงามเพราะมันแสดงถึงความชำนาญของฝีมือ จากนั้นใช้คีม บิดเกลียวให้แน่นซ้ำอีกครั้ง อย่าให้หลวม

ขั้นตอนต่อมาเราจะทำการพับปลายของสายที่ต่อกัน เพื่อไม่ให้มีความคม เพราะเดี๋ยวเราจะต้องพันด้วยเทปพันสายไฟ หากไม่พับปลายลงมา มันจะแทงทะลุเทปพันสายได้ ซึ่งไม่ค่อยดีเท่าไหร่ เพราะกระแสไฟฟ้าอาจจะลัดวงจรได้

หลังจากผ่านกระบวนการทำซ้ำสองสามที ก็จะได้รูปแบบการต่อสายไฟที่สวยงามขึ้น ขั้นต่อมาก็เอาเทปพันสายมาพัน หรือจะใช้ท่อหดมาสวมก็ได้ อันนี้เป็นวิธีการต่อสายไฟแบบแรก แต่มีข้อเสียคือไม่ทนแรงดึง ซึ่งก็แก้ไขได้โดยการต่อสายแบบต่อไป

อย่างแรกก็ให้ทำการปอกสายไฟเหมือนเดิมใช้วิธีการแบบเหลาดินสอ แต่ว่าคราวนี้บอกยาวหน่อย ใช้ความยาว ราว 10 cmตามมาตราฐาน แต่ในรูปไม่ถึงนะ
จากนั้นให้ใช้คีมบีบตรงจุดไขว้เอาไว้ แล้วก็เริ่มพันสายแต่ละด้านไปบนสายอีกเส้นหนึ่งจนสุดความยาว ซึ่งงานนี้จะต้องใช้คีมช่วยเพราะว่ามือเอาไม่ไหว
เมื่อทำคล่องแล้ว การพันสายแบบรับแรงดึงก็ไม่ใช่เรื่องยาก สามารถทำให้สวยงามได้ง่ายๆเหมือนกัน ลองไปทำดูกันนะ
โปรดอย่าลืมว่า การพันสายไฟควรจะมีอุปกรณ์ช่วย โดยเฉพาะพวกคีมตัด คีมปากจิ้งจก ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ช่างไฟ หรือช่างจำเป็นในบ้านควรจะมีติดบ้านไว้ งานแบบนี้ต้องฝึกเอาเองนะจึงจะมีฝีมือติดตัว